ข่าวสาร
กิจกรรม
รายละเอียดโครงการ
ในปัจจุบัน สถานการณ์ภัยคุกคามที่เกิดจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ ภัยธรรมชาติ อุบัติภัย ได้ ทวีความรุนแรงมากขึ้น การควบคุมป้องกันภัยคุกคามที่ทันการ มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยระบบการเฝ้าตรวจติดตามสถานการณ์ที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่ทุรกันดาร การคมนาคมยากลำบาก ระบบการเฝ้าตรวจติดตามสถานการณ์โรคที่มีอยู่เดิมของทหารยังมีจุดด้อยในเรื่องความล่าช้าของการส่งข้อมูล ไม่สามารถตอบสนองความเร่งด่วนของปฏิบัติการทางการแพทย์ได้อย่างเต็มที่ สำหรับระบบเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่อาจไม่ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารตามแนวชายแดนที่ทุรกันดาร ดังนั้น กองวิจัย สวพท.จึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศแจ้งเตือนภัยคุกคามทางการแพทย์ ชื่อ UBS (Unit Based Surveillance) มาใช้เพิ่มขีดความสามารถของระบบการเฝ้าตรวจติดตามสถานการณ์โรคตามแนวชายแดน ให้เป็นการเฝ้าระวังแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันต่อสถานการณ์ สามารถพยากรณ์แนวโน้มการเกิดโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อดำเนินการควบคุมโรคได้ทันต่อเหตุการณ์ ระบบ UBS เริ่มดำเนินการในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาส่วนที่อยู่ ในความรับผิดชอบของกองกำลังสุรนารี (กกล.สุรนารี) ในปี พ.ศ.2545 ต่อมาได้ขยายโครงการไปที่กองกำลังสุรสีห์ (กกล.สุรสีห์) ชายแดนไทย-เมียนมาร์ในปี พ.ศ.2547 และนำโมเดลไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2549-2550 ต่อมาได้ดำเนินโครงการในระยะที่สอง โดย พ.อ.หญิง จริยาณาฏ เกวี หัวหน้าโครงการ ได้ปรับปรุงระบบให้เข้ากับระบบของกระทรวงสาธารณสุขที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนในประเทศ เพื่อบูรณาการให้เป็นระบบเฝ้าระวังแห่งชาติ ดำเนินการในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และชายแดนไทย-เมียนมาร์ ในความรับผิดชอบของ กกล.สุรนารี และ กกล.นเรศวร ตั้งแต่ปี 2550 จนประสบความสำเร็จในปี 2554 โดยระบบแจ้งเตือนภัย UBS ที่พัฒนาขึ้น ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ทางทหารประเภทหลักการจากกองทัพบก อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงมีการพัฒนาระบบเข้าสู่ระยะที่สาม เพื่อให้ระบบแจ้งเตือนภัย UBS สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเครือข่ายระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ ราชอาณาจักรกัมพูชา ที่เริ่มนำระบบเฝ้าระวังโรค SAGES (Suite for Automated Global Electronic bioSurveillance) มาใช้ กองวิจัย สวพท.จึงได้ประสานความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้พัฒนาระบบ SAGES ให้การสนับสนุนทางเทคนิค ทำการพัฒนาปรับระบบ SAGES ให้เป็นฉบับภาษาไทย เพื่อนำมาผนวกรวมกับระบบเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัย UBS เดิม พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีการสื่อสารสมาร์ทโฟนมาประยุกต์ใช้ในการเก็บ-ส่งข้อมูลแบบดิจิตอลโดยตรงผ่านอินเตอร์เน็ต และนำโปรแกรมรับส่ง-วิเคราะห์ข้อมูลทางเว็บไซต์ Open ESSENCE มาใช้รับส่ง-บันทึกข้อมูล พร้อมทั้งวิเคราะห์ตรวจแนวโน้มการเกิดโรคระบาดเป็นแห่งแรกในอาเซียน แต่เนื่องจากการดำเนินงานโครงการไม่ได้รับการจัดสรรทุนการดำเนินงานต่อ ทำให้ต้องหยุดการดำเนินงานไปตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาได้ยื่นโครงการขอทุนเพื่อดำเนินการจากกระทรวงกลาโหมประเทศสหรัฐฯโดยเป็นโครงการย่อยในแผนงานโครงการชื่อ “Surveillance of Pathogens in Border Province Royal Thai Army Hospitals” และได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินงานสำหรับปีงบประมาณ 2563 และ 2564